อักษรนำ คล้ายคลึงกับคำควบกล้ำ แต่คำควบกล้ำแท้จะประสานเสียงที่ออกสนิทกว่าอักษรนำ ในขณะที่คำควบกล้ำไม่แท้จะไม่ออกเสียงตัวควบกล้ำหรือเปลี่ยนเป็นเสียงอื่นเลย
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อักษรนำ](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEggcLxgfEXERkGGHfY_xGuVRQzJylvL2MEqv2t9sXPSlpfzrVp8M8bMDSx5F4INOjSJfFGdxlYf4QHP1Kf-Eid551aVfIhY_xw8DeYL5oXHz18xTPdmNWbijtJsPohzg7p_KqTe3eQTrIs/s640/FB_IMG_1443484091620.jpg)
ข้อบังคับของการใช้อักษรนำต่างๆ
พยัญชนะตัวแรกอาจจะเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำก็ได้ เช่นเดียวกับตัวหลัง แต่ถ้า
- อักษรสูงนำ พยัญชนะตัวหลัง อาจจะเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำก็ได้
- อักษรกลางนำ พยัญชนะตัวหลัง เป็นอักษรต่ำได้เพียงอย่างเดียว
- อักษรต่ำนำ พยัญชนะตัวหลัง เป็นอักษรต่ำได้เพียงอย่างเดียว
การใช้ ห และ อ นำ
ห จะใช้นำได้เฉพาะ อัฒสระ (คือ พยัญชนะที่มีเสียงกึ่งสระกึ่งพยัญชนะ ได้แก่ ย ร ล ว) และพยัญชนะตัวสุดท้ายของพยัญชนะวรรคเท่านั้น (ได้แก่ ง ญ ณ น ม แต่ ณ ไม่มีที่ใช้) เช่น หยด หยอก หรีด หลง หล่อ หวัง หงอก หญ้า หญิง หนู หย่า ฯลฯ
ในขณะที่ อ จะใช้นำได้เฉพาะตัว ย และมีอยู่เพียง 4 คำเท่านั้น ได้แก่ อย่า อยู่ อย่าง อยาก โดยมีผู้คิดค้น
นีโมนิค (Mnemonic หรือ ข้อความช่วยจำ) ขึ้นว่า อย่าอยู่อย่างอดอยาก
การออกเสียง จะออกเสียงพยัญชนะสองตัวผสมกันคนละครึ่ง พอแยกออกได้ว่าพยัญชนะอะไรผสมกัน แต่การผสมนี้จะไม่สนิทเท่าอักษรควบแท้ มียกเว้นอยู่สองกรณี ที่จะไม่ออกเสียงพยัญชนะอีกตัว ได้แก่
- ตัว ห เมื่อเป็นตัวนำอักษรเดี่ยว ไม่ต้องออกเสียงคนละครึ่งเหมือนอักษรนำอื่น ๆ แต่ให้ออกเสียงประสมกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ เช่น หนู หมอ ใหญ่ ฯลฯ
- ตัว อ เมื่อนำหน้า ตัว ย ไม่ต้องออกเสียงเหมือนอักษรนำธรรมดา ให้ออกเสียงทำนองเดียวกับ ห นำ แต่เป็นเสียงอักษรกลาง คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก มี 4 คำเท่านั้น
ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรกลางหรืออักษรสูง แล้วพยัญชนะข้างหลังเป็นอักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว เวลาอ่านให้ผันเสียงอักษรต่ำนั้นเป็นเสียงสูงตามอักษรที่เป็นตัวนำ แต่ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรต่ำ หรือพยัญชนะข้างหลังไม่ใช่อักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว ให้อ่านออกเสียงพยัญชนะนั้นตามปกติเมื่ออกเสียงจะต้องมีคำควบกล้ำผสมอยู่ด้วย
วิธีสังเกตุอักษรนำ
- สังเกตเสียง ออกเสียงประสมกันแต่ไม่กล้ำกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ สามารถแยกเป็นสองพยางค์ได้ ยกเว้น ห และ อ ที่เป็นตัวนำ (กล่าวคือ อักษรนำที่ ห และ อ นำนั้นเป็นอักษรนำ แต่ไม่อ่านแบบอักษรนำ )
- คำที่มีสระหน้าหรือสระคร่อม (สระหน้า บน-หลัง) คำที่มีอักษรนำส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับอักษรหลัก และรูปสระล้อมรอบอยู่ด้านนอก เช่น เฉลย แสลง (สะ-แหลง) ไฉน เสมียน เถลิง เสลา ฯลฯ มีส่วนน้อยที่อักษรแยกจากกันเช่น ขโมย ทแยง สแลง (สะ-แลง)
- สังเกตรูปพยัญชนะ คือ ถ้าอักษรนำเป็นอักษรสูง หรืออักษรกลาง อักษรเดี่ยวซึ่งเป็นตัวที่ 2 จะต้องออกเสียงเป็นเสียงสูงหรือกลางตามไปด้วย เช่น กนก ถนน สนิม ขนม ฯลฯ ในที่นี้ นก นน และ นิม ต้องออกเสียงให้เป็น หนก หนน หนิม ซึ่งผิดกับเมื่ออยู่ตามลำพัง
อ้างอิงจาก : หนังสือ ภาษาไทย หลักภาษาและการใช้ภาษา
ผู้เรียบเรียง : นายภาสกร เกิดอ่อน
: นางสาวระวีวรรณ อินทรประพันธ์
: นางฟองจันทร์ สุขยิ่ง
: นางกัลยา สหชาติโกสีย์
ผู้เรียบเรียง : นายภาสกร เกิดอ่อน
: นางสาวระวีวรรณ อินทรประพันธ์
: นางฟองจันทร์ สุขยิ่ง
: นางกัลยา สหชาติโกสีย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น