วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การเขียนเรียงความ

๑. องค์ประกอบการเขียนเรียงความ
เรียงความ หมายถึง งานเขียนร้อยแก้วที่มุ่งถ่ายทอดความรู้ ความคิด ประสบการณ์ของผู้เขียนให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวโดยมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยคำนำ เนื้อเรื่อง และ สรุป ดังนี้

๑. คำนำ
    เป็นส่วนแรกของเรียงความที่ผู้เขียนใช้นำเข้าสู่เรื่องช่วยให้ผู้อ่านทราบว่าจะกล่าวถึงอะไร หรือใช้ดึงดูดความสนใจ โน้มน้าวให้เกิดความใคร่รู้ติดตามอ่านต่อไปจนจบ ซึ่งคำนำที่ดีต้องสอดคล้องกับหัวข้อเรื่องและเนื้อเรื่อง มีความยาวเหมาะสมส่วนใหญ่คือ ๑ ย่อหน้า

๒. เนื้อเรื่อง
    เป็นส่วนที่ให้รายละเอียด เนื้อหาสาระ ความรู้สึก ความคิดเห็นทั้งหมด ซึ่งเนื้อเรื่องจะน่าติดตามมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการวางโครงเรื่อง หรือโครงสร้างเนื้อหา ผู้เขียนต้องทราบว่าตนเองกำลังจะเขียนเรื่องใด มีประเด็นใดบ้างควรนำมาถ่ายทอด ประเด็นใดควรกล่าวถึงเป็นลำดับแรก โดยทุกประเด็นต้องมีความสำพันธ์กัน
๓. สรุป 
    เป็นส่วนที่ใช้กล่าวปิดเรื่องเพื่อเน้นสาระสำคัญ กระตุ้นให้ผู้อ่านจดจำ ประทับใจ หรือเกิดความคิด ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของเรียงความ


๒. ขั้นตอนการเขียนเรียงความ
       การเขียนเรียงความเป็นทักษะที่พัฒนาได้หากนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขั้นตอนการเขียนและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

๒.๑ ขั้นเตรียมการ
       เป็นขั้นตอนเริ่มต้นก่อนที่จะลงมือเรียบเรียงตามองค์ประกอบของเรียงความ ดังนี้
      ๑. การเลือกเรื่องและกำหนดจุดมุ่งหมาย
          ผู้เขียนต้องเลือกหัวข้อและกำหนดจุดมุ่งหมายในการเขียนว่าต้องการสื่อสารอะไร ส่วนใหญ่การเขียนเรียงความมักเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความคิด ความรู้สึกต่อเรื่องที่นำเสนอ เช่น ผู้เขียนเลือก เขียนเรียงความเกี่ยวกับสามัคคี ผู้เขียนอาจกำหนดจุดมุ่งหมายให้ผู้อ่านตระหนักในคุณค่าของความสามัคคี เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว ชุมชนของตนเอง เป็นต้น การเลือกเรื่องเพื่อเขียนเรียงความผู้เขียนควรเขียนในสิ่งที่ตนมีความรู้ความเข้าใจประสบการณ์ เพราะจะสะดวกเมื่อรวบรวมข้อมูล
    ๒. การรวบรวมข้อมูล
         ผู้เขียนต้องรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย นำมาคัดเลือก จัดกลุ่มอย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะนำไปเขียนโครงเรื่องอย่างละเอียด
   ๓. การเขียนโครงเรื่อง เป็นการสร้างเค้าโครงของเรียงความ ผู้เขียนต้องนำข้อมูลที่รวบรวมและจัดหมวดหมู่ไว้แล้วอย่างคร่าวๆ มาจัดหมวดหมู่ไว้แล้วอย่างคร่าวๆ มาจัดหมวดหมู่อีกครั้ง โดยพิจารณาความครบถ้วน การเรียงลำดับก่อน-หลังต้องไม่สับสน ความสั้น-ยาวต้องใกล้เคียงกัน จากนั้นจึงเขียนขยายความคิด ให้รายละเอียดเพื่อใช้เป็นแนวทางเมื่อลงมือเรียบเรียง ซึ่งการเขียนโครงเรื่องมี ๔ ขั้นตอนดังนี้
๑ ระดมความคิด
๒ เลือกและจัด
๓ เรียงลำดับ
๔ ขยายความคิด


อ้างอิงจาก : หนังสือ ภาษาไทย หลักภาษาและการใช้ภาษา
ผู้เรียบเรียง : นายภาสกร เกิดอ่อน
                : นางสาวระวีวรรณ อินทรประพันธ์
                : นางฟองจันทร์ สุขยิ่ง
                : นางกัลยา สหชาติโกสีย์













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น